รูปแบบการผลิต
ลวดลาย
ลวดลายบนเครื่องเงิน เครื่องถมไทย ที่เป็นลายประจำชาติส่วนใหญ่จะเป็นลวดลายภาคกลางลวดลายต่างๆล้วนมีที่มาบางลายก็คล้ายคลึงกับลายของอิหร่าน อินเดีย และจีน ได้แก่ลายที่มาจากธรรมชาติบางชนิดเช่น ลายดาวกระจาย ลายบัวคว่ำบัวหงายและบางลายก็มาจากวัฒนธรรมความเชื่อของฮินดูแต่กระนั้นก็ยังมีลายไทยทั่วไปที่มีลักษณะเฉพาะหาดูที่ไหนไม่ได้นอกจากในประเทศไทย ลวดลายต่างๆ บนเครื่องเงินและโลหะอื่นๆ พอจะแบ่งกว้างๆได้หลายประเภท ดังนี้
รูปธรรมชาติและรูปเหมือนจริงต่างๆ เช่นทิวทัศน์ทั่วไป สัตว์ ต้นไม้ สถานที่สำคัญ เช่นพระปรางค์วัดอรุณ พระเจดีย์กลางน้ำ รูปจากประวัติศาสตร์ เช่น พระนเรศวรชนช้าง ลายสถานที่เหล่านี้มีมาไม่นานเท่าไหร่นัก
รูปเทพเจ้า มาจากความเชื่อโบราณแบบฮินดู เช่นพระวิษณุกรรม พระสุรัสวดี เทพบุตร เทพธิดาทั่วไป
รูปสัตว์จากป่าหิมพานต์และจากเทพนิยาย ได้แก่ ราชสิงห์ คชสิงห์ หงส์ ครุฑ นาค กินนร กินรี ลายพวกนี้มีมาแต่โบราณ
รูปสัตว์12ราศี มีที่มาความเชื่อแบบจีน มีมาแต่โบราณและทำกันทั่วไปในภูมิภาคแถบนี้
ลายไทย เป็นไปไม่ได้เลยที่จะกล่าวถึงลักษณะลายไทยทั้งหมดแต่อาจกล่าวถึงลายเด่นๆเฉพาะบนเครื่องเงินเท่านั้นคือ
ลายกนก เฉพาะกนกอย่างเดียวก็แทบนับจำนวนไม่ได้แต่เดิมคำว่า กนก เป็นชื่อตู้ลายรดน้ำของอินเดียเมื่อ 2000 ปีมาแล้ว ต่อมาคำว่า กนก กลายเป็นลักษณะลายอย่างที่รู้จักกันทั่วไปกนกมีหลายลักษณะ อ้วน ผอม หรือพลิ้วไหวต่างกัน หรือมีหัวหางต่างกันก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น กนกใบเทศ(กนกผสมใบเทศ)กนกเปลว (ปลายเหมือนเปลวไฟ) กนกผักกูด กนกลายนาค กนกหางโต เป็นต้น
- ลายดอก ที่นิยมคือ ดอกบัว ดอกมะลิ ดอกจอก ดอกพุดตาน
- ลายใบเทศ ดอกชัยพฤกษ์ ลายดอกไม้ร่วง
- ลายพุ่ม เช่น พุ่มข้าวบิณฑ์ เทพพนม
- ลายช่อ เช่น ช่อนกสามตัว ช่อเปลวลายก้านขด เป็นการนำลายหลายอย่างมาต่อกันโดยมีลายเชื่อมต่อกันไปเรื่อยๆ มีหลายชนิด
- ลายเปลว ลายเครือเถา เป็นลายที่เลื้อยอย่างอิสระ ภายในรูป ของสิ่งที่ทำ มีทั้งเครือเถาชั้นเดียว เครือเถาไขว้
- ลายขอบและลายเชิง มักจะใช้ในพื้นที่แคบๆ หรือตกแต่งตามขอบ ทั้งแนวตั้งแนวนอน เช่น ลายหน้ากระดาษ ลายเกลียว ลายกรวยเชิง ลายก้านต่อดอก ลายเฟือง
- ลายบัว ใช้ทำตามส่วนโค้งของภาชนะ เช่น เชิงพาน
- ฐานประกอบลาย ใช้เป็นลายฐานต่างๆ เช่นเดียวกับลายบัว ยังมีลายไทยอื่นๆ แต่ไม่ค่อยเห็นในเครื่องเงินมากนัก เช่น ลายผนังแบบต่างๆ ลายกระจังในกรอบสี่เหลี่ยม ฯลฯ
ในภาชนะชิ้นใหญ่ลายต่างๆ เหล่านี้จะไม่อยู่โดดเดี่ยว แต่จะผสมผสานลายต่างๆเข้าด้วยกันให้เต็มพื้นที่สุดแท้แต่จินตนาการของช่างแต่ละคน ลายที่วิจิตรพิสดารที่สุดจะเป็นลายที่ประกอบด้วยรูปแบบที่หลากหลายมากที่สุดที่จะมากได้ และก็แน่นอนจะหาดูไม่ค่อยได้
ความเป็นมาและพัฒนาการของลวดลาย
ตามที่กล่าวมาแล้วว่าลักษณะเด่นของการต้องลายบ้านวัวลายจังหวัดเชียงใหม่อยู่ที่วิธีการแกะลายทั้งสองด้านภาคอื่นๆ มักจะแกะลายเฉพาะด้านนอกด้านเดียว ช่างตอกลายจากด้านในให้นูนตามโครงสร้างรอบนอกของลายก่อนแล้วตีกลับจากด้านนอกเพื่อทำรายละเอียดอีกที่หนึ่ง โดยทั่วไปลวดลายของเชียงใหม่จะไม่ลึกมากเท่ากับลวดลายของพม่าแต่ก็ลึกกว่าของภาคกลาง สมัยโบราณการทำภาชนะที่เป็นของใช้จะเป็นแบบเรียบๆต่อมาจึงได้มีการทำ ลวดลายใส่เช่น ลายชาดก ลายดอกกระถิน ลายดอกทานตะวันลายสับปะรดลายนกยูง ลายดอกหมาก บางคน เรียกลายแส้ ลายฝักข้าวโพด และลายสิบสองนักษัตรซึ่งลายสิบสองนักษัตรของเชียงใหม่โบราณรุ่น 100ปีมาแล้วต่างจากภาคอื่นๆ คือปีกุนเป็นรูปช้าง ไม่ใช่รูปหมู
ภาชนะที่เป็นขันเงินหรือสลุงเงิน เป็นภาชนะสำหรับใช้งาน โดยทั่ว ๆ ไปก็มักจะใช้เรียกขันเงินที่มีการประดับตกแต่งด้วยการเคาะดุน ตี
ขันเงินหรือสลุงเงินมักมีลวดลายหลายอย่างผสมผสานกัน เช่น ลายนักษัตรจะมีรูปสัตว์อยู่ในกรอบรูปร่างต่างๆกัน เช่น กรอบรูปลิงหลายๆตัวต่อๆกัน กรอบรูปหนึ่งเรียกว่า “โขนหนึ่ง” การล้อมกรอบลายบนพื้นที่ต่างๆก็คล้ายกับภาคกลาง แบ่งลายด้วยกรอบ 4 กรอบ มีพื้นลายเป็นกนกบ้าง ดอกพุดตานบ้าง ลายเชียงใหม่ นอกจากจะอยู่ในกรอบรูปต่างๆแล้วยังอาจจะอยู่ในแวดล้อมของดอกกระถิน ดอกทานตะวัน และดอกสับปะรด
ลวดลายต่างๆที่สลักบนขันเงินหรือสลุงเงินของบ้านวัวลายจะมีตั้งแต่ลายดั้งเดิมคือเริ่มจากการตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านวัวลาย และลวดลายใหม่คือเริ่มจากปี พ.ศ.2500
No comments:
Post a Comment